วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
อาหารไทยโกอินเตอร์อีกก้าว...ที่รัสเซีย
อาหารเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาตินั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละประเทศแต่ละทวีปจะมีลักษณะอาหาร รูปร่างหน้าตา รสชาติ ที่แตกต่างกันไป... อาหารไทย...ถือเป็นอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมและได้รับการเผยแพร่ไปทั่วทุกมุมของโลก อาจด้วยความโดดเด่นในเรื่องของรสชาติที่ชวนให้ผู้คนพากันเข้ามาลองพิสูจน์กัน ในปี 2550 นี้ ประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อเนื่องยาวนานถึง 110 ปี เพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานกาลาดินเนอร์ THAI NIGHT "Businessmen meet Businessmen" เพื่อเผยแพร่อาหารและวัฒนธรรมไทยขึ้น พิศมัย จันทรุเบกษา กรรมการผู้จัดการฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) แม่งานคนสำคัญในการจัดทำเมนูอาหารในครั้งนี้เล่าให้ฟังว่า อาหารไทยที่นำมารัสเซียในครั้งนี้เป็นเมนูที่คนรัสเซียน่าจะให้ความสนใจ ประกอบด้วย ยำส้มโอ ต้มยำกุ้ง ฉู่ฉี่ปลาแซลมอน และข้าวเม่าทอดไอศกรีมวานิลลา จากประสบการณ์และการสำรวจที่เคยทำอาหารไทยในต่างแดนมาอาหารที่เป็นที่นิยมมากคือ ต้มยำกุ้ง อาจด้วยรสชาติที่เป็นซีฟู้ด วิธีการทำต้มยำของรัสเซียกับไทยมีความคล้ายกัน ใส่กุ้ง ปลา กระเทียม มะนาว แต่มีที่ต่างกันตรงที่ของไทยจะใส่ตะไคร้กับใบมะกรูดแต่คนรัสเซียไม่นิยมใส่ ด้วยเหตุผลที่ว่าผักทั้ง 2 ชนิด มีกลิ่นฉุนและหาได้ยากในตลาดรัสเซีย "อาหารไทยมีกลิ่น มีความหอมที่แปลกไปจากบ้านเขา เป็นสิ่งดึงดูดได้ทางหนึ่ง การมาในครั้งนี้นอกจากเป็นการเผยแพร่อาหารไทย ทั้งยังได้เผยแพร่สูตรความรู้ในการทำอาหารไทยที่ถูกต้องให้นักธุรกิจทั้งไทยและชาวรัสเซียได้รู้จักกันมากขึ้น เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ซึ่งเป็นช่องทางในการลงทุนกันต่อไปในอนาคตได้" งานครั้งนี้จะไม่มีใครได้ลิ้มชิมอาหารไทยถ้าขาดเชฟทั้ง 4 คนนี้ วีระชัย พราหมณ์โสภี กิจติยา แคดี ชะเอิ้น อินปิน และ ภานุมาศ ซอรักษ์ ละจากครัวช่วยกันอธิบายการจัดสรรเมนูในครั้งนี้ให้ฟังว่า ถึงแม้อาหารจะไม่ได้นำมาจากประเทศไทยทั้งหมด ในส่วนของเนื้อสัตว์ คือ กุ้ง และผักบางชนิดอย่าง แครอท ข้าวโพด เนื่องจากทางโรงแรมกลัวว่าจะเกิดผลกระทบได้หากมีคนทานแล้วเกิดอาการท้องเสียอาจถูกฟ้องร้องได้ ถึงต้องหลีกเลี่ยงในส่วนนี้ กรรมวิธีในการทำทุกอย่างยังคงทำแบบไทย แต่ในส่วนของรสชาติอาหารบางอย่างอาจจะไม่ใช่อย่างไทยแท้ๆ เนื่องจากธรรมชาติการทานอาหารของคนรัสเซียแตกต่างจากคนไทยในเรื่องของความเผ็ดที่เป็นปัญหาใหญ่ รวมทั้งในส่วนของความฉุนที่คนรัสเซียอาจจะยังไม่คุ้นเคย จึงต้องมีการปรับในเรื่องของความเผ็ดให้ลดลงอ่อนกว่าปกติ แต่เครื่องปรุงยังคงใส่ตามปกติรสชาติจึงไม่จัดจ้านเท่ารสชาติของคนไทย "คนรัสเซียบริโภคอาหารรสจืดและอาหารแช่เย็นไม่ค่อยได้ทานอาหารสด อีกทั้งอาหารไทยประเภทแกงที่มีกะทิ มีความมันที่คล้ายกับ นม เนย ครีม จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้อาหารไทยประเภทนี้ได้รับความนิยมในรัสเซีย มาคราวหน้าเครื่องปรุงวัตถุดิบอาหารไทยอาจไม่ต้องนำมาจากเมืองไทยเพราะหาได้ง่ายขึ้นในตลาดรัสเซียก็เป็นได้" ชะเอิ้น เชฟสาวหนึ่งเดียวกล่าวเสริมว่า การทำอาหารสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญคือ ความสะอาดและคุณภาพของอาหารนำเสน่ห์ของความเป็นไทยออกมาให้ต่างชาติเห็นรูปแบบของอาหาร การทำอาหารในต่างแดนควรศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของคนชาตินั้นๆ รวมถึงลักษณะการทาน เพื่อจะได้ปรับปรุงรสชาติให้ถูกปากคนทาน "อาหารไทยได้รับการแพร่หลายและกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในหลายๆ ประเทศ อยากให้ผู้นำเข้าอาหารไทยและผู้ที่เปิดร้านอาหารไทยในต่างแดนอย่าลืมรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย อย่าดัดแปลงทั้งรสชาติ รูปร่างของอาหารให้ผิดเพี้ยนไปจนความเป็นไทยหายไปจากจานอาหารที่ได้ชื่อว่าเป็นอาหารไทย ถึงแม้จะต้องจัดเมนูแบบสากลก็ไม่ควรลืมใส่ความเป็นไทยลงไปด้วย ให้ยังคงกลิ่นอายของความเป็นไทยไว้" ภานุมาศ พูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นห่วง ทวิโรจน์ ทรงกำพล ผู้จัดการทั่วไปประจำสำนักงานสหพันธรัฐรัสเซียเผยถึงลู่ทางธุรกิจอาหารไทยในรัสเซียว่า โดยพื้นฐานการบริโภคคนรัสเซียมีความสุขกับการทานมาก มีความสุขกับการใช้ชีวิต ซื้อของ เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวรัสเซียมีกำลังซื้อ และมีการบริโภคเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ จะเห็นได้จากร้านอาหารในรัสเซียเปิด 24 ชม. ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่าคนรัสเซียมีวิถีการกินอยู่ตลอด การนำอาหารไทยมาเผยแพร่สู่รัสเซียในครั้งนี้ จึงมองได้ว่าเป็นการขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับสินค้าไทย ทุกวันนี้ร้านอาหารไทยในมอสโกมีประมาณ 10 ร้าน แต่มีเพียง 2-3 ร้านเท่านั้นที่มีเชฟเป็นคนไทย ในขณะเดียวกันการรับรู้ในเรื่องของความเป็นไทย อาหารไทยมีอัตราที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่การเติบโตของร้านอาหารยังเกิดขึ้นน้อย ทั้งที่ข้อจำกัดในเรื่องของการนำเข้าอาหารในรัสเซียมีน้อยกว่าหากเทียบกับหลายๆ ประเทศในยุโรป ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นช่องทางในการขยายโอกาสให้กับสินค้าไทย ผลิตภัณฑ์ของไทยได้ช่องทางหนึ่ง "ในส่วนนี้คงขึ้นอยู่กับนักธุรกิจไทยจะให้ความสำคัญมากน้อยเพียงใด ทั้งในส่วนของวัตถุดิบ เครื่องเทศ อาหารทะเล เพราะทุกวันนี้ผู้นำเข้าอาหารไทยในรัสเซียถ้าไม่ใช่คนรัสเซียจะเป็นชาวเวียดนามและจีนที่เป็นเจ้าของตลาด ซึ่งถ้ามองในเรื่องของศักยภาพความเป็นไปได้ในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารไทยในรัสเซียยังมีความเป็นไปได้สูงสำหรับนักธุรกิจไทยเพียงแต่ยังไม่มีคนริเริ่ม ไม่มีใครมองเห็นในจุดนี้ เพราะที่ผ่านมานักธุรกิจไทยอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับรัสเซียมากนัก มีมุมมองที่เกี่ยวข้องกับรัสเซียที่ทำให้ไม่ถึงเวลาที่จะเริ่มต้น รวมทั้งส่วนหนึ่งมาจากไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัยในการลงทุน และยังติดภาพลักษณ์สภาพแวดล้อมของรัสเซียในสมัยเมื่อครั้งเป็นโซเวียตอยู่" อัครพงศ์ ทีปวัชระ ที่ปรึกษา(ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก กล่าวถึงทิศทางของอาหารไทยในรัสเซียว่า ปัจจุบันคนรัสเซียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยปีละกว่า 100,000 คน จะช่วยเป็นการผลักดันให้อาหารและวัฒนธรรมไทยเป็นที่รู้จักของคนรัสเซียในวงที่กว้างขึ้นตามไปด้วย ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก มีนโยบายในการสนับสนุนให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องเทศและการเปิดร้านอาหารไทยในรัสเซีย โดยการให้ตราสัญลักษณ์ THAI SELECT ที่ถือว่าเป็นอาหารไทยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยเผยแพร่อาหารไทย รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าและผลไม้ไทยร่วมกับห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ของรัสเซีย มีการจัดให้ชิมอาหารและผลไม้ไทยในการแสดงสินค้าที่ไทยได้เข้าร่วม เพื่อให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคชาวรัสเซียอีกด้วย ด้านนายเรืองยศ ภมรมนตรี ผู้อำนวยการฝ่ายภาคพื้นยุโรปและแอฟริกา บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินการให้ฟัง "ของอะไรที่ใหม่คงต้องใช้เวลา การมาเผยแพร่อาหาร และวัฒนธรรมไทยในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีของผู้ที่จะมาลงทุนในด้านอาหารไทยซึ่งกำลังเติบโตเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกใน ตลาดใหม่ๆ อย่างมอสโก เมื่อมาแล้วเห็นแนวทางจะได้หาลู่ทาง หนทาง ทำการศึกษาว่าจะเข้ามาด้วยวิธีใดได้บ้าง" "คงต้องให้คนไทยเข้าใจแนวทางหรือโอกาสที่จะลงทุนในการนำอาหารไทยเข้าสู่รัสเซีย รวมทั้งจะได้ศึกษาข้อจำกัดหรือโอกาสที่จะเข้ามาว่าเป็นอย่างไร ทางสายการบินได้มีขยายเส้นทางการบินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเข้ามาทำความรู้จักภูมิประเทศความเป็นอยู่ของผู้คน การอุปโภค บริโภค ของคนในเมืองนั้นๆ พร้อมทั้งนำอาหารและวัฒนธรรมของไทยเข้ามาด้วย อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้ทั่วโลกรู้จักคนไทยมากขึ้น" อเล็กซ์ สตาร์ หนุ่มชาวรัสเซียผู้นำเข้าอาหารไทยรายใหญ่ในรัสเซียแอบกระซิบว่า อาหารไทยที่น่าจะไปได้ดีในตลาดรัสเซียจะเป็นจำพวกอาหารทะเล คนรัสเซียชอบทานอาหารไทยที่มีรสชาติเข้มข้นนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมถึงชอบต้มยำกุ้ง แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นการปรุงที่เป็นแบบไทยจริงๆ เพราะถ้าเปลี่ยนรสไปมากๆ จะทำให้คนรัสเซียสับสน และเอกลักษณ์ของไทยจะหายไปด้วย ด้านวัฒนธรรมไทยได้จัดการแสดงชุดต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างสีสันภายในงาน อาทิ ชุดบายศรีสู่ขวัญฟ้อน เรณูนคร กินรีหรรษา มีเพนท์สีบนร่ม ร้อยพวงมาลัยและแกะสลักผักผลไม้ต่างๆ ร่วมด้วย ณัฐญา เบี้ยวไข่มุข ผู้อำนายการกองวางแผนและประสานงานโครงการพิเศษภาครัฐและเอกชน กล่าวทิ้งท้ายว่า อาหารไทยที่อร่อยมาพร้อมความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยที่แตกต่างไปจากศิลปะการแสดงในยุโรป เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยมัดใจชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี ถึงการตอบรับจะไม่ใช่ในตอนแรก...ก็ไม่ได้หมายถึงบทสรุป คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอาหารไทยในรัสเซียจะออกหัวหรือก้อย !!!...แต่สิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้ นั่นคือการเริ่มต้นได้เกิดขึ้นแล้ว...
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น